สัตว์ทะเลมีพิษ ในท้องทะเลมีหลายชนิดที่มีพิษ สามารถก่อให้เกิดอันตราย ต่อมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ ได้ บางชนิดใช้พิษเพื่อป้องกันตัวเอง จากผู้ล่า ในขณะที่บางชนิด ใช้พิษในการล่าเหยื่อ บทความนี้จะกล่าวถึงพิษ ของสัตว์ทะเล 4 ชนิด ได้แก่ แมงกะพรุน, ปลาสิงโต, ปลากระเบน และหมึกสายบลูริง รวมถึงอันตรายที่เกิดจากพิษเหล่านี้ รวมถึงอาการของพิษ และการรักษาเบื้องต้น
สัตว์ทะเลมีพิษ บางชนิดไม่ใช่นักล่า แต่อาจจะเป็นผู้ถูกล่า การใช้พิษในการป้องกันตัวเอง เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต จากศัตรูและภัยคุกคามอื่น ๆ พิษช่วยทำให้ศัตรูเจ็บปวด อ่อนแอ หรือสับสน ทำให้สัตว์มีเวลาหนี หรือป้องกันตัวเองได้ พิษในสัตว์ทะเลเช่น แมงกะพรุน ปลาหมึก มีสารที่ทำให้เกิดอาการช็อก หรืออัมพาต ซึ่งช่วยให้สัตว์เหล่านี้ สามารถป้องกันตัวเอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พิษของ แมงกะพรุน (Jellyfish)
ชนิดของพิษ : แมงกะพรุนบางชนิด เช่น แมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish) มีพิษรุนแรงมาก หนวดของแมงกะพรุน มีเซลล์พิเศษ ที่เรียกว่า “นีมาโตซิสต์” (nematocyst) ซึ่งสามารถปล่อยพิษ เมื่อสัมผัสกับเหยื่อ หรือภัยคุกคาม แม้ว่าพิษของแมงกะพรุน บางสายพันธุ์ จะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่บางสายพันธุ์มีพิษรุนแรง ที่สามารถทำให้เกิดความเจ็บปวด และปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ [1]
อาการเมื่อถูกพิษ : การถูกพิษจากแมงกะพรุน สามารถทำให้เกิด ความเจ็บปวดรุนแรง ผื่นแดง บวม และมีรอยไหม้บนผิวหนัง หากได้รับพิษในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการหัวใจล้มเหลว หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตได้ในกรณีรุนแรง
การรักษาเบื้องต้น: เมื่อถูกพิษจากแมงกะพรุน ควรล้างบริเวณที่ถูกพิษน้ำส้มสายชู หากมี และนำวัตถุที่ติดอยู่กับผิวหนังออก เช่น หนวดแมงกะพรุน หากอาการรุนแรง ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
พิษของ ปลาสิงโต (Lionfish)
ชนิดของพิษ : ปลาสิงโตมีพิษ ที่อยู่ในหนามที่แผ่รอบลำตัว หนามเหล่านี้ประกอบด้วย พิษโปรตีนที่สามารถทำให้เกิด อาการเจ็บปวดรุนแรง และอักเสบ
อาการเมื่อถูกพิษ : เมื่อถูกปลาสิงโตแทง พิษจะทำให้เกิดความเจ็บปวด บวม แดง และมีอาการชาในบริเวณที่ถูกพิษ อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน และในบางกรณีอาจเกิดอาการช็อก
การรักษาเบื้องต้น : ควรล้างบาดแผลด้วยน้ำร้อน (ไม่เกิน 45 องศาเซลเซียส) เพื่อช่วยทำลายพิษเบื้องต้น จากนั้นนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาเพิ่มเติ
สัตว์ทะเลมีพิษ บางชนิดใช้พิษในการล่าเหยื่อ เพราะพิษช่วยทำให้ การจับเหยื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น พิษสามารถทำให้เหยื่อ เป็นอัมพาตหรือสับสน ทำให้มันไม่สามารถหลบหนี หรือป้องกันตัวเองได้ นอกจากนี้พิษยังช่วยให้สัตว์นักล่า จัดการกับเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ หรือแข็งแรงกว่าได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ปลากระเบน และหมึกสายบลูริง สัตว์บางชนิดยังใช้พิษ เพื่อย่อยเหยื่อจากภายใน ทำให้การย่อยและดูดซึมสารอาหาร สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
พิษของ ปลากระเบน (Stingray)
ชนิดของพิษ : ปลากระเบนมีหางที่ยาวและแหลม ซึ่งสามารถทำร้ายเหยื่อได้ หางนี้มีพิษที่สามารถทำให้เกิด อาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง พิษของปลากระเบนมีโปรตีน และเอนไซม์ที่สามารถ ทำลายเซลล์ผิวหนัง และเนื้อเยื่อได้ [2]
อาการเมื่อถูกพิษ : เมื่อถูกแทงจากปลากระเบน จะเกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรง บวม แดง และมีอาการชาในบริเวณที่ถูกพิษ อาจเกิดการติดเชื้อ หากแผลไม่ได้รับการรักษา อย่างถูกวิธีในบางกรณี ที่พิษเข้าสู่กระแสเลือด อาจทำให้เกิดอาการหัวใจล้มเหลว
การรักษาเบื้องต้น : แช่บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ลงในน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิ ประมาณ 45°C หรือเท่าที่ทนไหว ความร้อนจะช่วยลดความเจ็บปวด และทำลายสารพิษบางส่วนได้ และนำส่งโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาตามขั้นตอน
พิษของ หมึกสายบลูริง (Blue-Ringed Octopus)
ชนิดของพิษ : หมึกสายบลูริงเป็นสัตว์ทะเล ที่มีพิษรุนแรงมาก พิษของมันคือสารที่ชื่อว่า Tetrodotoxin ซึ่งสามารถโจมตีระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อหยุดทำงาน และทำให้เกิดอาการช็อก พิษนี้มีความรุนแรงมากกว่า พิษของงูแมมบ้า (Black Mamba) และสามารถทำให้เสียชีวิตได้ ภายในไม่กี่นาที [3]
อาการเมื่อถูกพิษ : การถูกกัดจากหมึกสายบลูริง อาจทำให้รู้สึกชา มนุษย์เราหากรับพิษ ไปเพียง 1 มิลลิกรัม ก็เป็นอันตรายอย่างมาก คนที่ถูกพิษ จะมีอาการคล้ายเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก พิษนี้สามารถทำให้กล้ามเนื้อหยุดทำงาน ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และสามารถทำให้ผู้ที่ได้รับพิษ เสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที
การรักษาเบื้องต้น : เนื่องจากยังไม่มีเซรุ่ม แก้พิษหมึกสายบลูริง ควรนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลทันที พร้อมกับช่วยในการหายใจ เอาอากาศเข้าสู่ปอด เช่น การเป่าปาก เพื่อให้ผู้ป่วยยังคงมีออกซิเจนเพียงพอ
สรุป สัตว์ทะเลมีพิษ เช่น แมงกะพรุน, ปลาสิงโต, ปลากระเบน, และหมึกสายบลูริง เป็นตัวอย่าง ของสิ่งมีชีวิตที่มีพิษรุนแรง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอันตราย ต่อมนุษย์ได้ การรู้จัก และเข้าใจถึงพิษ ของสัตว์เหล่านี้ ช่วยให้เราสามารถ ป้องกันตัวเองได้ดียิ่งขึ้น และเตรียมพร้อมในการรับมือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ความรู้เรื่องพิษของสัตว์ทะเล ยังเป็นประโยชน์ในการศึกษา เพื่อพัฒนาแนวทางการรักษา ที่มีประสิทธิภาพเมื่อโดนพิษ