![เสือดาวอามูร์](https://nekopg.co/wp-content/uploads/2024/12/เสือดาวอามูร์-ปก3-300x169.webp)
การสื่อสารด้วยแสง เป็นการสื่อสารอีกอย่างหนึ่ง ของสัตว์ในธรรมชาติ ที่เต็มไปด้วยกลยุทธ์แสนอัจฉริยะ การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมากในโลกของสัตว์ ไม่ว่าจะเพื่อบอกตำแหน่ง รักษาอาณาเขต หรือตามหาคู่ สัตว์บางชนิดใช้การสื่อสารนี้ เป็นการส่งข้อมูลด้วยแสงเพื่อบอกความหมายต่าง ๆ ในที่มืด บทความนี้จะพาไปดูกันว่า แสงในธรรมชาติ เป็นตัวแทนของการสื่อสารของสัตว์ชนิดใด แล้วมีแบบไหนได้บ้าง
การสื่อสารด้วยแสง เป็นการสื่อสารอีกอย่างหนึ่งของสัตว์ ที่ไม่ใช่แค่ การสื่อสารด้วยเสียง เท่านั้น การใช้แสงในการสื่อสาร เป็นกระบวนการที่พวกมัน ปล่อยแสงออกมาจากตัวเอง เพื่อส่งสัญญาณ หรือส่งข้อความบางอย่าง โดยแสงที่ปล่อยออกมาไม่ใช่แสงสะท้อน จากภายนอก แต่เป็นแสงที่เกิดจาก กระบวนการเคมีภายในร่างกาย เรียกว่าการเรืองแสงชีวภาพ (Bioluminescence)
เช่น แสงที่เห็นในหิ่งห้อย หรือแสงที่เห็นในปลาน้ำลึก แสงที่เกิดขึ้นก็สามารถมีหลายสี เช่น สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน หรือแม้แต่สีแดง ขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมี และโครงสร้างของตัวรับแสงในสัตว์นั้น ๆ
แมงกะพรุน เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในท้องทะเล หนึ่งในคุณสมบัติที่โดดเด่น และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือ การเรืองแสง (Bioluminescence) แมงกะพรุนสามารถเรืองแสงได้ ในสภาพแวดล้อมที่มืดสนิทใต้ทะเล ซึ่งแสงเหล่านี้ เกิดจากกระบวนการเคมีในร่างกายของพวกมัน แมงกะพรุนหลายสายพันธุ์ สามารถปล่อยแสงสีต่าง ๆ ออกมา เช่น สีเขียว สีฟ้า หรือสีน้ำเงิน
การเรืองแสงของแมงกะพรุน เกิดจากการทำงานร่วมกันของสารเคมี สองชนิดหลัก ได้แก่ ลูซิเฟอริน (Luciferin) ซึ่งเป็นสารที่สร้างแสง และ เอนไซม์ลูซิเฟอเรส (Luciferase) ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการผลิตแสง เมื่อสารลูซิเฟอรินทำปฏิกิริยา กับออกซิเจนโดยมีเอนไซม์ลูซิเฟอเรสเข้ามาช่วย จะเกิดการปล่อยพลังงาน ในรูปแบบของแสงออกมา [1]
แมงกะพรุนบางสายพันธุ์ เช่น แมงกะพรุนไฟฟ้า (Atolla jellyfish) จะปล่อยแสงออกมา เมื่อถูกรบกวน หรือรู้สึกถึงอันตราย แสงที่เกิดขึ้นสามารถทำให้ศัตรูสับสน หรือล่อลวงสัตว์นักล่าอื่น ๆ ให้เข้าโจมตีศัตรูของแมงกะพรุน แทนที่จะโจมตีมันเอง
ในโลกใต้ทะเลลึกที่มืดสนิท การสื่อสารด้วยแสงถือเป็นเรื่องจำเป็น สัตว์หลายชนิดที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ใช้แสงเพื่อจุดประสงค์ที่หลากหลาย ปลาหมึกบางชนิดใช้แสงเพื่อพรางตัว ให้ดูเหมือนเป็นแสงสะท้อน ของผิวน้ำด้านบน ทำให้พวกมันดูเหมือนแทบจะหายไป ในความมืด นี่เรียกว่า “การพรางตัวด้วยแสง” (Counter-illumination) ซึ่งเป็นการทำให้ตัวเอง กลืนไปกับแสงเพียงน้อยนิด ที่สะท้อนจากดวงอาทิตย์
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ปลาแองเกลอร์ (Anglerfish) ที่มีแสงตรงปลายหนวดบนหัว ตัวเมียจะใช้แสงนี้ ในการล่อเหยื่อเข้าใกล้ โดยเหยื่อจะคิดว่าแสงนั้นเป็นสัตว์เล็ก ๆ ที่ลอยอยู่ในน้ำ เมื่อเข้ามาใกล้มากพอ มันก็จะกลายเป็นอาหารมื้อใหญ่ ของปลาแองเกลอร์ในทันที แสงจึงเป็นทั้งเครื่องมือ ในการล่าและการเอาตัวรอด ในสภาพแวดล้อมที่มืด [2]
การสื่อสารด้วยแสง ไม่ใช่แค่ในน้ำเท่านั้นที่สัตว์ใช้การสื่อสารนี้ บนพื้นดินเองก็มีตัวอย่างที่น่าสนใจเช่นกัน เช่น หนอนเรืองแสง (Glow Worms) เป็นตัวอ่อนของแมลง ที่เรืองแสงเพื่อดึงดูดเหยื่อ ให้เข้ามาใกล้หรือใช้ เพื่อบอกถึงพิษของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีการค้นพบว่าบางชนิดในป่าฝนเช่น เชื้อราบางชนิดสามารถปล่อยแสง เพื่อดึงดูดแมลงและสัตว์เล็ก ๆ ให้มาช่วยแพร่กระจายสปอร์ของมัน
หิ่งห้อย คือตัวอย่างสุดคลาสสิก ของการใช้แสงเพื่อการสื่อสาร ส่วนใหญ่เราจะเห็นแสงของหิ่งห้อยกะพริบในยามค่ำคืน แสงที่พวกมันปล่อยออกมา ไม่ใช่เพื่อส่องสว่างให้เห็นทาง แต่เป็นการส่งสัญญาณหาคู่ตัวเมีย ตัวผู้แต่ละตัวจะกะพริบแสง ในลักษณะเฉพาะเจาะจง เป็นรหัสลับ เช่น ตัวผู้ชนิดหนึ่งอาจกะพริบแสง สองครั้งติดกัน หยุดหนึ่งวินาที แล้วกะพริบอีกครั้ง ขณะที่อีกสายพันธุ์หนึ่ง อาจกะพริบสามครั้งติดแล้วหยุดยาวกว่า
เมื่อหิ่งห้อยตัวเมีย เห็นแสงจากตัวผู้ที่ถูกใจ มันจะตอบสนองด้วยการกะพริบแสงกลับ ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณบอกว่า “ฉันอยู่นี่ และฉันก็สนใจ” แต่หากเจอตัวผู้ ที่กะพริบแสงในจังหวะที่ผิดไปจากที่มันคุ้นเคย มันก็จะเพิกเฉยไม่สนใจ การส่งสัญญาณด้วยแสง จึงมีบทบาทสำคัญมาก เพราะในพื้นที่ ที่มีหิ่งห้อยหลายสายพันธุ์อยู่ร่วมกัน การมีสัญญาณที่จำเพาะจะช่วยป้องกันการเลือกคู่ผิดพลาด
ที่มา: “หิ่งห้อยน้อย คอยให้ทุกคนมาเรียนรู้ รออยู่ที่ศูนย์รวมตะวัน” [3]
หนอนเรืองแสง หรือ Glowworm เป็นตัวอ่อนของแมลง ที่สามารถปล่อยแสงสีเขียว หรือสีเหลืองออกมา ความสามารถพิเศษคือ มันสามารถควบคุมแสงบนตัวได้ โดยการที่มันจะทำการเรืองแสงนั้น ก็เพื่อต้องการปกป้องตัวเอง หรือใช้วิธีนี้ในการล่อเหยื่อ เข้ามาหาตัว ทำให้แมลงเล็ก ๆ ที่หลงคิดว่าแสงนั้นเป็นที่หลบภัย หรือเป็นแสงของอาหาร ทำให้ตกเป็นเหยื่อของมันได้อย่างง่ายดาย แสงจึงไม่ใช่แค่เครื่องมือสื่อสาร แต่ยังเป็นกับดักที่น่าทึ่งอีกด้วย
หนอนเรืองแสง อาจจะไม่ได้มีให้เห็นทั่วไปได้ง่ายๆ แต่มีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง ที่สามารถพบเจอกับเหล่าหนอนเรืองแสงนี้ได้ นั่นก็คือ Waitomo Glowworm Caves หรือที่รู้จักกันในชื่อ ถ้ำหนอนเรืองแสง ในประเทศนิวซีแลนด์ เป็นถ้ำหินปูนที่มีอายุเก่าแก่กว่า 30 ล้านปี ที่มีหนอนเรืองแสงส่องสว่างในถ้ำที่มืด กว่าหลายพันตัว ทำให้เราสามารถเห็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาตินี้ได้อย่างเต็มตา
เพิ่มเติม
เชื้อราเรืองแสง แม้จะไม่ใช่สัตว์ แต่เชื้อราบางชนิดก็สามารถปล่อยแสงได้ ตัวอย่างเช่น เชื้อราในป่าฝนเขตร้อน จะเรืองแสงในความมืด เพื่อดึงดูดแมลงและสัตว์เล็ก ๆ ให้เข้ามาช่วยแพร่กระจายสปอร์ของมัน กระบวนการนี้ ช่วยให้เชื้อราสามารถขยายพันธุ์ ไปในพื้นที่กว้างได้มากขึ้น
สรุป การสื่อสารด้วยแสง ในโลกของสัตว์ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่าที่เราคิด สัตว์แต่ละชนิดใช้แสง เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การหาคู่ การล่อเหยื่อ ไปจนถึงการพรางตัว กลไกการสร้างแสง ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินี้ เป็นผลจากวิวัฒนาการที่ยาวนาน ทำให้แต่ละชนิดสามารถอยู่รอด และเจริญพันธุ์ได้ในสภาพแวดล้อม ที่ยากลำบาก ซึ่งเราอาจได้เห็นการนำความรู้เหล่านี้ มาใช้ในเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับแสงอีกมากมายในอนาคต